ทุกย่างก้าวในชีวิตประจำวันของเรา ไม่เพียงแค่สร้างรอยเท้าลงบนพื้นดินหรือพื้นทรายเท่านั้น แต่ยังทิ้งร่องรอยที่มองไม่เห็นทว่าส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ ‘คาร์บอนฟุตพริ้นท์’ (Carbon Footprint) หรือ ‘รอยเท้าคาร์บอน’ ซึ่งสะท้อนปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ และกำลังส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมของเราในระยะยาว
เชื่อว่าหลายคนอาจมีคำถามในใจอยู่ไม่มากก็น้อยว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์คืออะไรกันแน่ ทำไมเราจึงควรสนใจและให้ความสำคัญ มากกว่านั้น เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมหรือภาวะโลกร้อนอย่างไร บทความนี้จะชวนมาทำความรู้จักเรื่องนี้ให้มากขึ้น และที่เหมืองทองอัครามีแนวทางในการจัดการและลดรอยเท้าคาร์บอนนี้อย่างไรบ้าง
“คาร์บอนฟุตพริ้นท์” หมายถึงอะไร ?
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) หรือรอยเท้าคาร์บอน คือ การวัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในรูปของปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ (Greenhouse Gases – GHG) เช่น ก๊าซมีเทน ก๊าซหัวเราะ ไนตรัสออกไซด์ กลุ่มก๊าซฟลูออริเนต เป็นต้น ที่ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศจากกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยแหล่งกำเนิดของก๊าซเหล่านี้เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน หรือจากกระบวนการผลิตต่าง ๆ ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งมักถูกเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดว่าเปรียบเสมือน ‘รอยเท้าที่มองไม่เห็น’ จากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเรา และทิ้งร่องรอยไว้บนโลกซ้ำ ๆ สะสมจนฝังลึกทำร้ายสิ่งแวดล้อมในระยะยาว คล้ายกับรอยเท้ามนุษย์ที่ฝังลึกเหยียบย่ำบนพื้นดิน
ซึ่งก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นนี้ ทำให้มนุษย์เราได้จุดประกายแนวคิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวัดและประเมินผลกระทบของกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เราสามารถระบุแหล่งที่มาหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และหาวิธีลดการปล่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการวัดเป็นหน่วย “ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า” (tCO₂e) นั่นเอง

อะไรบ้างที่สร้าง “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” ?
มาที่ต้นกำเนิดของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เชื่อว่าหลายคนไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเราล้วนสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ทั้งสิ้น ตั้งแต่
- การใช้พลังงาน เช่น การใช้ไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิงในการเดินทาง หรือการใช้แก๊สหุงต้ม
- การบริโภคอาหาร ตั้งแต่กระบวนการผลิต ไปจนถึงการขนส่งและการบริโภค อาหารแต่ละประเภทมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์แตกต่างกัน นอกจากนี้ เศษอาหารเหลือทิ้งที่เน่าเสีย ยังปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพในการทำลายชั้นบรรยากาศสูงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์หลายเท่า
- การซื้อสินค้าและบริการ สินค้าแทบทุกชนิดที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือของใช้ทั่วไป ต่างก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สะสมมาตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การบรรจุหีบห่อ จนถึงการขนส่ง และแม้แต่บริการต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว การพักโรงแรม หรือการใช้บริการออนไลน์ ก็ล้วนมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมผ่านการใช้พลังงานและทรัพยากร
- การจัดการของเสีย การกำจัดขยะอย่างไม่ถูกต้อง เช่น การฝังกลบโดยไม่มีระบบควบคุม หรือการเผาขยะในที่โล่ง สามารถปล่อยทั้งก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซพิษอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ได้โดยตรง
- การใช้ที่ดินและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การตัดไม้ทำลายป่า หรือการเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรมหรือเขตเมือง ส่งผลให้ “ตัวกรองธรรมชาติ” ที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง อีกทั้งยังทำให้ก๊าซเรือนกระจกที่สะสมอยู่ในดินและพืชถูกปล่อยออกมา
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ มีกี่ประเภท ?
สามารถจำแนกได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นตามลักษณะของกิจกรรม หรือประเภทของผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่สำหรับในระดับองค์กร การจำแนกประเภทของคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะอิงจาก “ขอบเขตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้สามารถวัดผลและจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในองค์กรแบ่งออกเป็น 3 ขอบเขตหลัก หรือที่เรียกว่า Scope 1, Scope 2 และ Scope 3 ดังนี้:
- Scope 1: การปล่อยโดยตรง (Direct Emissions) เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งที่องค์กรเป็นเจ้าของหรือควบคุมโดยตรง เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ของยานพาหนะในองค์กร การใช้หม้อต้มไอน้ำหรือเครื่องจักรในโรงงาน การปล่อยก๊าซมีเทนจากบ่อบำบัดน้ำเสียขององค์กร หรือกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซโดยตรง เช่น การผลิตซีเมนต์ เป็นต้น
- Scope 2: การปล่อยทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Indirect Emissions from Purchased Energy) เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้พลังงานที่องค์กรจัดซื้อจากภายนอก แม้ว่าก๊าซเรือนกระจกจะถูกปล่อยที่แหล่งผลิตพลังงาน แต่ผลกระทบจะถูกนับรวมเป็นขององค์กร เนื่องจากเป็นผู้บริโภคพลังงานนั้นโดยตรง เช่น การใช้ไฟฟ้าในสำนักงานหรือโรงงาน การใช้ไอน้ำ ความร้อน หรือความเย็นที่ได้จากระบบสาธารณูปโภค หรือผู้ให้บริการพลังงานภายนอก
- Scope 3: การปล่อยทางอ้อมจากห่วงโซ่คุณค่า (Other Indirect Emissions) เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับองค์กร แต่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรง เป็นการปล่อยที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่คุณค่าทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ โดย Scope นี้ถือเป็นส่วนที่มีความซับซ้อนมากที่สุด และมักเป็นแหล่งปล่อยก๊าซที่มีปริมาณสูงที่สุด ตัวอย่างเช่น การขนส่งวัตถุดิบและสินค้า การเดินทางของพนักงาน (ที่ไม่ใช่รถบริษัท) การกำจัดของเสียจากผลิตภัณฑ์ การใช้สินค้า หรือบริการโดยลูกค้า
การทำความเข้าใจ Scope ทั้ง 3 นี้ ช่วยให้องค์กรสามารถระบุแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างครอบคลุม และสามารถวางแผนการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้อย่างตรงจุด

“คาร์บอนฟุตพริ้นท์” สำคัญอย่างไร ทำไมต้องใส่ใจเรื่องนี้ ?
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ไม่ใช่แค่ตัวเลข หรือตัวชี้วัดทางสถิติ แต่คือภาพสะท้อนของปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่กิจกรรมต่าง ๆ ของเราปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศในทุก ๆ วัน และนั่นคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด “ภาวะโลกร้อน” หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างรวดเร็วและรุนแรงที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อโลกของเราอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เรากำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนจัด น้ำท่วมหนัก ภัยแล้งยาวนาน หรือพายุที่โหมกระหน่ำบ่อยครั้ง สิ่งเหล่านี้คุกคามระบบนิเวศ ทำให้สิ่งมีชีวิตเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และยังทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นส่งผลต่อพื้นที่ชายฝั่งโดยตรงอีกด้วย
ที่สำคัญ ผลกระทบทั้งหมดนี้ยังย้อนกลับมาส่งผลต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ของเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การทำความเข้าใจและใส่ใจเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือ ความรับผิดชอบร่วมกัน ของทั้งบุคคล องค์กร และสังคม หากเราร่วมมือกันลงมือเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันนี้ จะช่วยบรรเทาผลกระทบและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ได้ โลกของเรายังมีโอกาสได้ฟื้นฟู และเดินหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน
อัคราใส่ใจสิ่งแวดล้อมทุกขั้นตอนพร้อมรับผิดชอบต่อส่วนรวม
ในฐานะผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เรามุ่งมั่นมากกว่าแค่การขุดทอง โดยนำเทคโนโลยีและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศมาใช้ในทุกขั้นตอน เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของเราส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

- ขุดเจาะอย่างรับผิดชอบ
ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ใน Scope 1 และ Scope 2 ได้ ดังนี้
- ใช้นวัตกรรมลดผลกระทบ เราใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขุดเจาะ พร้อมลดการเกิดฝุ่นและมลภาวะต่าง ๆ
- บำรุงรักษาเครื่องจักร เราให้ความสำคัญกับการตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องมือและเครื่องจักรที่ใช้ในการขุดเจาะให้มีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่เสมอ เพื่อลดการปล่อยมลพิษและการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น
- ฟื้นฟูหลังขุดเจาะ หลังจากการขุดเจาะทำเหมืองเสร็จสิ้น เรามีกระบวนการฟื้นฟูพื้นที่อย่างเป็นระบบ เช่น การปรับหน้าดินและการปลูกพืชคลุมดิน เพื่อคืนสภาพแวดล้อมให้กลับสู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียง
- ผลิตอย่างคุ้มค่า
เพื่อการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ใน Scope 1 และ Scope 2 อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยแนวทางดังนี้
- จัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เราใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่าในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต โดยเฉพาะการนำน้ำจากบ่อกักเก็บหางแร่ (TSF) กลับมาใช้ใหม่ ทั้งหมดนี้ดำเนินการภายใต้ระบบ Zero Discharge ที่ช่วยลดการใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติได้อย่างมหาศาล
- เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพ เรานำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้ในการวางแผนและควบคุมการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสียพลังงานและทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ตอบโจทย์การดำเนินงานที่ทั้ง คุ้มค่า และ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ฟื้นฟูคืนธรรมชาติ
- ฟื้นฟูพื้นที่อย่างเป็นระบบ การฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองไม่ใช่แค่การปลูกต้นไม้ แต่คือการฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาสมบูรณ์ที่สุด ทั้งในแง่ของพันธุ์พืช และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยดำเนินการคู่ขนานไปกับการทำเหมือง คำนึงถึงลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และความต้องการของชุมชนในพื้นที่
- ร่วมมือและรับฟังเสียงชุมชน เพื่อคืนชีวิตให้พื้นที่ เพื่อให้การฟื้นฟูมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เราทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมป่าไม้ และเปิดรับความคิดเห็นของชุมชน เพื่อให้การฟื้นฟูเป็นไปตามหลักวิชาการ และสอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง
- เปลี่ยนขุมเหมืองเก่าเป็นแหล่งน้ำแห่งชีวิต พื้นที่เหมืองเก่าที่ได้รับการฟื้นฟู ไม่เพียงแต่กลายเป็นพื้นที่สีเขียว แต่ยังถูกพัฒนาให้เป็น แหล่งน้ำสำรองเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง และแหล่งเพาะพันธุ์ปลาเพื่อเพิ่มอาหารให้กับชุมชนโดยรอบ โครงการนี้ไม่เพียงช่วยฟื้นฟูธรรมชาติ แต่ยังเชื่อมโยงระบบนิเวศให้ “ป่าอยู่กับคน” ได้อย่างยั่งยืน
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ คือร่องรอยที่เราทุกคนฝากไว้บนโลกใบนี้ การทำความเข้าใจและร่วมกันลดรอยเท้านี้จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทุกคน เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ในฐานะองค์กรที่ตระหนักถึงบทบาทสำคัญต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เหมืองทองอัครา มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ด้วยการนำแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดมาใช้ในทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เราเชื่อมั่นว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมและการดูแลชุมชน สังคมและโลกใบนี้ สามารถเดินเคียงคู่กันไปได้