Search

BLOG

HOME > Knowledge Blog

ไซยาไนด์คืออะไร? ทำความรู้จักสารเคมีที่อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

ทำความรู้จักไซยาไนด์คืออะไร มีพืชผัก ผลไม้ อะไรบ้างที่มีไซยาไนด์ อาการเมื่อได้รับไซยาไนด์เป็นอย่างไร และไซยาไนด์เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมได้อย่างไรบ้าง
ไซยาไนด์คืออะไร ทำความรู้จักสารเคมีที่อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

ไซยาไนด์… แค่ได้ยินชื่อหลายคนคงนึกกลัวจากข่าวที่เกิดขึ้น จนทำให้เกิดความระแวงอยู่ไม่น้อย แต่รู้หรือไม่ว่า ‘ไซยาไนด์’ เป็นสารเคมีที่อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิดเสียอีกด้วย บทความนี้เราเลยจะพาคุณไปทำความรู้จักไซยาไนด์กัน ตั้งแต่ว่ามันคืออะไร มีลักษณะเป็นอย่างไร สามารถพบได้ที่ไหนบ้าง ในธรรมชาติรอบตัวเรามีไซยาไนด์หรือไม่ อันตรายแค่ไหน รวมถึงประโยชน์ดี ๆ อย่างการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ และไขข้อข้องใจเกี่ยวกับไซยาไนด์ที่หลายคนอาจเข้าใจผิดให้ครบแล้วที่นี่

ทำความรู้จักไซยาไนด์ สารประกอบเคมี… ที่ใคร ๆ ก็มองว่าอันตราย

ไซยาไนด์ถูกจัดเป็นสารพิษอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งหากครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต มีโทษทั้งจำและปรับ โดยในไซยาไนด์ตามโครงสร้างทางเคมี คือเป็นสารประกอบเคมีที่มี “ไซยาไนด์ไอออน (CN-)” เป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งประกอบด้วยอะตอมของคาร์บอน (C) และไนโตรเจน (N) ซึ่งมีหลายชนิด เป็นได้ทั้งของแข็งในรูปแบบก้อนผลึก หรือผงสีขาว เป็นของเหลวสีใสไม่มีกลิ่น หรือในรูปแบบก๊าซที่ไม่มีสีแต่บางคนจะได้กลิ่นคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ 

และความจริงอันน่าเหลือเชื่อที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน… ว่ารอบตัวเรานั้นต่างรายล้อมไปด้วยไซยาไนด์อยู่ แบบที่เรียกได้ว่าแฝงตัวได้อย่างแนบเนียนเลยทีเดียว

ไซยาไนด์ในธรรมชาติ การแฝงตัว… ที่ใกล้ชิดกว่าที่คุณคิด

ไซยาไนด์ไม่ได้มีแค่ในห้องทดลองหรือโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังพบได้ในธรรมชาติ แถมยังอยู่ใกล้ตัวกว่าที่ใครหลายคนคิดอีกเสียด้วยซ้ำ

ไซยาไนด์ในธรรมชาติ ไซยาไนด์ในผักและผลไม้
  • พืชผักและผลไม้ มีพืชผักและผลไม้อย่างน้อย 1,000 ชนิด ที่เราคุ้นเคยกันดีซึ่งแน่นอนว่าสามารถสังเคราะห์ไซยาไนด์ได้ ตัวอย่างเช่น ฝ้าย ปอ มันฝรั่ง ถั่วฝักยาว ถั่วเหลือง หัวผักกาด ถั่วลันเตา กวางตุ้ง มันสำปะหลัง หน่อไม้สด ลูกท้อ ลูกแพร์ เชอร์รี ลูกพลัม ข้าวโพด เมล็ดแอปเปิ้ลและอัลมอนด์ เป็นต้น
  • สัตว์บางชนิด สัตว์บางชนิดก็สามารถสังเคราะห์ไซยาไนด์เพื่อป้องกันตัวได้ เช่น ตะขาบ กิ้งกือ เต่าทอง ผีเสื้อทั่วไปและผีเสื้อกลางคืน เป็นต้น
  • อาหารและของใช้ใกล้ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็น กาแฟ เกลือ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า แม้กระทั่งกางเกงยีนส์ที่เราสวมใส่กัน

ไซยาไนด์ฟังดูอันตราย แล้วทำไม เราถึงไม่เป็นอะไรล่ะ ! 

แม้เราจะรู้แล้วว่าไซยาไนด์อยู่รอบตัวเราเต็มไปหมด แต่เคยสงสัยไหมว่าทำไมไซยาไนด์เหล่านั้นถึงไม่ส่งผลอะไรกับเราเลย ? 

นั่นเป็นเพราะไซยาไนด์มีหลายชนิด บางชนิดไม่เป็นพิษ บางชนิดมีระดับความเป็นพิษสูง โดยค่าเฉลี่ยของปริมาณไซยาไนด์ที่ทำให้เสียชีวิตเมื่อรับทางปากคือ 1-2 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งหากร่างกายรับไซยาไนด์ในปริมาณน้อยกว่าที่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต แต่ก็สามารถทำให้เกิดอาการร่างกายอ่อนแรง ปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ชักและอาจหมดสติได้ โดยความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปริมาณ ชนิด และระยะเวลาในการรับสัมผัสด้วย และนี่ก็คือตัวอย่างปริมาณไซยาไนด์ในธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเราอย่างพืชผักและผลไม้ที่เรายกตัวอย่างมาให้ ดังนี้

ไซยาไนด์ในผักและผลไม้

หมายเหตุ:

  • ข้อมูลในตารางเป็นค่าเฉลี่ยของปริมาณไซยาไนด์ในพืชผักซึ่งอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ฤดูกาล และสภาพแวดล้อมในการเพาะปลูก
  • การรับประทานพืชผักในปริมาณปกติไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เนื่องจากปริมาณไซยาไนด์อยู่ในระดับที่ต่ำมากและร่างกายสามารถขับออกได้เอง
  • ควรล้าง ปอกเปลือก หรือปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนก่อนรับประทาน เพื่อลดปริมาณไซยาไนด์และสารพิษตกค้างอื่น ๆ ที่มีในผักและผลไม้ตามธรรมชาติ เช่น หน่อไม้ ผักกวางตุ้ง มันสำปะหลัง ถั่วอัลมอนด์ เป็นต้น

การใช้ไซยาไนด์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ประโยชน์และความปลอดภัยที่ต้องอยู่ภายใต้ความควบคุมพิเศษ

ในทางอุตสาหกรรมไซยาไนด์ถือเป็นสารเคมีสำคัญที่ใช้ในกระบวนการผลิต โดยไซยาไนด์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ ดังนี้

  • การทำเหมือง: ใช้ในการสกัดทองคำและโลหะมีค่าอื่น ๆ โดยถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองทองตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการละลายทองคำได้เสถียรที่สุด
  • การผลิตพลาสติก: ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติก เช่น ไนลอน อะคริลิค
  • การชุบโลหะ: ใช้ในกระบวนการชุบโลหะเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ทนทาน และความสวยงาม เช่น การชุบทอง ชุบเงิน ชุบโครเมียม เป็นต้น
  • การผลิตกระดาษ: ใช้ในกระบวนการฟอกเยื่อกระดาษโดยเฉพาะโซเดียมไซยาไนด์ เพื่อกำจัดสารลิกนิน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้กระดาษมีสีเหลือง ช่วยให้ได้กระดาษที่ขาว สะอาด และมีคุณภาพ
  • การผลิตหนังเทียม: ใช้ในกระบวนการผลิตหนังเทียม เพื่อปรับสภาพผิวและเพิ่มความทนทานของหนังเทียม

ทั้งนี้ การใช้ไซยาไนด์ในแต่ละอุตสาหกรรมต่างมีข้อกำหนดความปลอดภัยมาตรฐานระดับสากล ดังเช่น ที่เหมืองทองชาตรีจากอัครา เรามีนวัตกรรมการควบคุมปริมาณการใช้ไซยาไนด์ที่ดูแลโดยผู้ชำนาญการและมากประสบการณ์, มีการใช้ระบบ Sparge ร่วมกับเทคโนโลยีในการขนส่งและจัดเก็บไซยาไนด์ (Isotainer) ที่ปลอดภัย ช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสและป้องกันการรั่วไหล รวมถึงเทคโนโลยีในการคำนวณค่าไซยาไนด์ที่ต้องใช้ในการผลิตแต่ละครั้ง เพื่อให้นำมาใช้ได้อย่างใกล้เคียงความต้องการที่สุด, การกักเก็บกากแร่โดยไม่มีการปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมที่ปิดล้อมด้วยเทคโนโลยีล้ำหน้า TSF (Tailings Storage Facilities) นวัตกรรมมาตรฐานโลกที่ป้องกันการรั่วซึมถึง 5 ชั้น ให้ความมั่นใจว่าไม่มีการรั่วซึมสู่ภายนอก ซึ่งรับรองโดยหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งรัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา (Environmental Protection Division of Nevada State, USA) พร้อมการออกแบบให้ไซยาไนด์ที่หลงเหลือจากกระบวนการสกัดทองคำสลายตัวด้วยความร้อนและแสงจากดวงอาทิตย์ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมโดยรอบ อีกทั้งยังมีการหมุนเวียนน้ำจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่โดยไม่มีการปล่อยออกไป รวมถึงการมีไซยาไนด์แอนตี้โดส หรือยาต้านพิษไซยาไนด์ ที่สำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับไซยาไนด์ สารหนูและแมงกานีส
หลายคนมักเข้าใจผิดว่าไซยาไนด์เป็นโลหะหนักเช่นเดียวกับสารหนูและแมงกานีส แต่จริง ๆ แล้วไซยาไนด์เป็นสารประกอบเคมีที่ใช้ในการสกัดทองคำออกจากแร่เท่านั้น ส่วนสารหนูและแมงกานีสเป็นโลหะหนักที่สามารถพบเจอได้ตามแหล่งธรรมชาติ เช่น ในหินแร่ต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตเหมืองทองคำ

ไซยาไนด์ สารเคมี 2 ด้านที่มีประโยชน์แต่ก็ยังมีความอันตราย การใช้ไซยาไนด์จึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมและจัดการอย่างถูกวิธี  เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อผู้ปฏิบัติงาน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

ไซยาไนด์ เรียกได้ว่าเป็นสารเคมีที่อยู่คู่กับโลกใบนี้มาเนิ่นนาน แถมยังอยู่ใกล้ตัวเสียจนน่าตกใจดังเช่นที่เราให้ข้อมูลไว้ข้างต้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้จะมีฤทธิ์รุนแรงแค่ไหน ก็ยังมีบทบาทสำคัญในวงการอุตสากรรมไม่น้อย ดังนั้น การทำความเข้าใจและเรียนรู้วิธีการป้องกันตัวเองจากพิษของไซยาไนด์จากธรรมชาติ และการใช้งานอย่างถูกต้อง ก็จะช่วยให้เราสามารถใช้ประโยชน์และอยู่ร่วมกับไซยาไนด์ได้อย่างปลอดภัยทั้งต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม

แหล่งอ้างอิง:
– กรมอนามัยและควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข
– การศึกษารวบรวมความรู้เรื่องไซยาไนด์ และเกณฑ์มาตรฐานสากลเกี่ยวกับการใช้สารไซยาไนด์ รศ.ดร.พษิณุ บุญนวล, รศ.ดร.เกรียงศักด์ศรีสุข และโพยม สราภิรมย์
– ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับไซยาไนด์ จุฑารัตน์ อาชวรัตน์ถาวร สำหนักอุตสาหกรรมพื้นฐาน กรมอุตสาหกรรพื้นฐานและการเหมืองแร่
– Agency for Toxic Substances and Disease Registry (ATSDR)
– World Health Organization (WHO)
– Food Standards Australia New Zealand (FSANZ)

@2024 AKARA RESOURCES COPYRIGHTED