Search

BLOG

HOME > Knowledge Blog

ทำความรู้จักระบบบำบัดน้ำเสีย สู่การหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่อย่างยั่งยืน

พาคุณไปรู้จักกับ ‘การบำบัดน้ำเสีย’ ที่สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ว่ามีขั้นตอนอย่างไร พร้อมแนะนำแนวทางการรีไซเคิลน้ำที่เหมืองทองอัคราใช้อย่างมีประสิทธิภาพเขาทำกันได้อย่างไร
ทำความรู้จักระบบบำบัดน้ำเสีย สู่การหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่อย่างยั่งยืน

น้ำ คือ ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิต ทั้งการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันไปจนถึงการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่เมื่อน้ำถูกใช้งานแล้ว สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ‘น้ำเสีย’ ซึ่งมักปนเปื้อนด้วยสารอินทรีย์  สารเคมี และสิ่งเจือปนอื่น ๆ หากปล่อยทิ้งโดยไม่มีการบำบัดน้ำที่เหมาะสมก่อน น้ำเสียนั้นอาจก่อให้เกิดปัญหามลพิษ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สุขภาพของมนุษย์และคุณภาพแหล่งน้ำในระยะยาว 

แล้วเราจะจัดการกับน้ำเสียอย่างไร ? บทความนี้จะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสียโดยทั่วไปว่ามีวิธีการอย่างไรบ้าง พร้อมนำเสนอแนวทางการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ที่ยึดถือมาตรฐานสากลและแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งผลให้อัคราสามารถจัดการทรัพยากรน้ำทุกหยดได้อย่างคุ้มค่าและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

น้ำเสียมาจากไหน ? ทำไมต้องบำบัดน้ำเสีย ?

น้ำเสีย (Wastewater) คือ น้ำที่ผ่านการใช้งานแล้วและมีสิ่งปนเปื้อน จนไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ทันที โดยแหล่งกำเนิดของน้ำเสียสามารถจำแนกได้เป็นหลายประเภท เช่น

  • น้ำเสียชุมชน: เกิดจากบ้านเรือน อาคาร ร้านค้า โดยมักเป็นน้ำจากการอาบน้ำ ซักล้าง ทำอาหาร หรือขับถ่าย เป็นต้น
  • น้ำเสียอุตสาหกรรม: เกิดจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การล้างอุปกรณ์ การหล่อเย็น หรือการผลิตสินค้า เป็นต้น
  • น้ำเสียเกษตรกรรม: มาจากการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งอาจปนเปื้อนด้วยปุ๋ย ยาฆ่าแมลง หรือมูลสัตว์

หากน้ำเสียไม่ได้รับการบำบัดอย่างเหมาะสมก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของมนุษย์และสัตว์ รวมถึงคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบ โดยผลกระทบจากน้ำเสียมีหลายด้าน ดังนี้

  • แหล่งน้ำขาดออกซิเจน สิ่งมีชีวิตไม่สามารถอยู่รอดได้
    สารอินทรีย์ในน้ำเสียจะถูกจุลินทรีย์ย่อยสลาย โดยกระบวนการนี้ต้องใช้ออกซิเจนในน้ำ เมื่อออกซิเจนหมดลง น้ำจะส่งกลิ่นเหม็นและสิ่งมีชีวิตในน้ำไม่สามารถอยู่รอดได้ 
  • แหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค น้ำที่เน่าเสียสามารถกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคชั้นดี ซึ่งทำให้เกิดโรคระบาดได้
  • สารปนเปื้อนตกค้างในแหล่งน้ำและห่วงโซ่อาหาร สารปนเปื้อนตกค้างในน้ำเสียอาจไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และสะสมในพืชน้ำ สัตว์น้ำ หรือเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ซึ่งอาจกระทบต่อสุขภาพของทั้งคนและสัตว์ในระยะยาว 
  • ทำลายทัศนียภาพ แหล่งน้ำที่เน่าเสียไม่เพียงแต่ดูไม่น่ามอง แต่ยังส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ ส่งผลต่อแหล่งท่องเที่ยว พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือเส้นทางคมนาคมทางน้ำ

เส้นทางสู่สายน้ำสะอาด กระบวนการบำบัดน้ำเสียเป็นอย่างไร

การบำบัดน้ำเสียเป็นขั้นตอนสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยให้สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างปลอดภัย โดยทั่วไประบบบำบัดน้ำเสียแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

1. บำบัดขั้นต้น (Primary Treatment) กำจัดของแข็งและสิ่งที่ไม่ละลายน้ำ

ขั้นตอนแรกของการบำบัดน้ำเสียมุ่งเน้นที่การแยกสิ่งสกปรกขนาดใหญ่และอนุภาคที่ไม่ละลายน้ำออกจากน้ำเสีย เช่น เศษขยะ เศษไม้ ใบไม้ และทราย โดยใช้กระบวนการต่าง ๆ ได้แก่

  • ตะแกรงดักขยะ: สำหรับแยกของแข็งขนาดใหญ่ออกจากน้ำเสีย
  • การตกตะกอน: ให้น้ำไหลผ่านถังตกตะกอนช้า ๆ เพื่อให้ตะกอนที่หนักกว่าน้ำจมลง
  • ถังดักไขมัน: สำหรับแยกไขมันและน้ำมัน (หากมี) ออกจากน้ำ 

2. บำบัดขั้นที่สอง (Secondary Treatment) กำจัดสิ่งสกปรกที่ละลายในน้ำ

หลังจากผ่านการบำบัดน้ำเสียขั้นต้นมาแล้ว น้ำเสียยังคงมีของแข็งแขวนลอยขนาดเล็กและสารอินทรีย์ทั้งที่ละลายและไม่ละลายในน้ำเหลือค้างอยู่ การบำบัดขั้นที่สองจึงต้องใช้การบำบัดทางชีวภาพเข้ามาช่วย โดยเน้นการใช้จุลินทรีย์ที่อยู่ในสภาวะควบคุมได้ (ส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรีย) ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ หรือกินสารอินทรีย์ได้รวดเร็วกว่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ตัวอย่างระบบที่นิยมใช้ เช่น

  • Activated Sludge (AS): ใช้ถังกวนที่มีจุลินทรีย์แขวนลอย
  • Trickling Filter (TF): ให้น้ำเสียไหลผ่านตัวกลางที่มีจุลินทรีย์เกาะอยู่
  • Rotating Biological Contactor (RBC): ใช้จานหมุนที่มีจุลินทรีย์เกาะอยู่
  • บ่อบำบัด: ใช้บ่อธรรมชาติ หรือบ่อที่สร้างขึ้น

จากนั้นน้ำที่ผ่านการบำบัดด้วยจุลินทรีย์แล้ว จะไหลเข้าสู่ถังตกตะกอนอีกครั้ง เพื่อแยกตะกอนจุลินทรีย์ (ตะกอนชีวภาพ) ออกจากน้ำ 

3. บำบัดขั้นสูง (Tertiary Treatment หรือ Advanced Treatment) กำจัดสิ่งที่เหลืออยู่ ปรับปรุงคุณภาพน้ำ

ขั้นตอนนี้จะเป็นการกำจัดสารอาหาร (ไนโตรเจนและฟอสฟอรัส) สาหร่าย ไข่พยาธิ ตัวอ่อนสัตว์ซึ่งเป็นพาหะนําโรค สี สารแขวนลอยที่ตกตะกอนยาก สิ่งเจือปนซึ่งไม่สามารถถูกกำจัดได้ในกระบวนการบำบัดก่อนหน้านี้ เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดียิ่งขึ้นเพียงพอที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ได้ ซึ่งรวมถึง

  • กำจัดฟอสฟอรัส ซึ่งมีทั้งวิธีการที่ใช้เคมีและแบบชีวภาพ
    • วิธีเคมี: เติมสารเคมี (เช่น สารส้ม หรือเฟอร์ริกคลอไรด์) เพื่อให้ฟอสฟอรัสจับตัวกันและตกตะกอน
    • วิธีชีวภาพ: ใช้จุลินทรีย์พิเศษที่ดูดซับฟอสฟอรัสได้มาก ในระบบที่สลับระหว่างสภาวะ “มีอากาศ” และ “ไม่มีอากาศ” 
  • กำจัดไนโตรเจน โดยมีทั้งการใช้เคมี แต่ไม่นิยมใช้ และวิธีการชีวภาพที่สามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้
  • Nitrification: เติมออกซิเจนในน้ำเสีย เพื่อให้จุลินทรีย์เปลี่ยนแอมโมเนียที่เป็นพิษต่อสัตว์น้ำ ให้กลายเป็นไนไตรต์และไนเตรตซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่า
  • Denitrification: ตัดออกซิเจนในน้ำเสีย เพื่อให้จุลินทรีย์เปลี่ยนไนเตรต ซึ่งยังคงอยู่ในน้ำเสีย ให้กลายเป็นก๊าซไนโตรเจนที่ไม่มีพิษและระเหยออกสู่บรรยากาศ 
  • กำจัดทั้งฟอสฟอรัสและไนโตรเจนร่วมกันโดยกระบวนการทางชีวภาพ: เป็นระบบที่ใช้สภาวะมีอากาศและไม่มีอากาศสลับกัน เพื่อให้จุลินทรีย์ทำหน้าที่ย่อยสลายทั้งไนโตรเจนและฟอสฟอรัสไปพร้อม ๆ กัน โดยต้องมีการควบคุมสภาพแวดล้อมอย่างแม่นยำ ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการออกแบบและควบคุมการทำงาน
  • กรอง: เป็นการใช้ตัวกลางในการกรอง เช่น ทราย กรวด หรือ Membrane (เช่น Ultrafiltration) กรองสิ่งสกปรกขนาดเล็ก หรือสารแขวนลอยที่ตกตะกอนยาก ทำให้น้ำใสขึ้น
  • ดูดซับ: มักจะใช้ถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon) ที่มีรูพรุนสูง ดูดซับสารอินทรีย์ สารเคมี สี และกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ออกจากน้ำ

เทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียมาตรฐานสากล ที่เหมืองทองอัครา 

บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการน้ำเสียอย่างมีความรับผิดชอบ และมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่เหมืองทองอัคราเราจึงนำระบบการบำบัดน้ำเสียมาตรฐานสากลมาใช้ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

  • Zero Discharge: หัวใจสำคัญ คือ ‘ไม่มีการปล่อยน้ำออกนอกพื้นที่’ (Nil-release) น้ำจากกระบวนการผลิต รวมถึงจากบ่อกักเก็บหางแร่ จะถูกนำมาหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ 100%
  • Zero Leakage: มั่นใจได้ในความปลอดภัยสูงสุดของบ่อกักเก็บหางแร่ ที่ได้รับการออกแบบและก่อสร้างตามมาตรฐานวิศวกรรมสากล ปูพื้นบ่อด้วยแผ่น HDPE ที่มีความทนทานสูง พร้อมระบบระบายน้ำใต้ดินและระบบตรวจสอบที่ทันสมัยเพื่อป้องกันการรั่วซึมอย่างมีประสิทธิภาพ
  • กระบวนการผลิตแบบ Closed Lock: ควบคุมการใช้สารเคมีภายในกระบวนการผลิตอย่างรัดกุม ป้องกันการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม 
  • Water Recycling: มีการติดตั้งหอระบายน้ำไว้กลางบ่อกักเก็บหางแร่ เพื่อสูบน้ำที่ผ่านการรีไซเคิลแล้วกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิต ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำดิบได้ถึง 307,679 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ทำให้ลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่โดยรอบได้อีกด้วย

มากกว่าเทคโนโลยีคือความรับผิดชอบ… ที่เหมืองทองอัครา การดำเนินงานไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การสกัดแร่ทองคำ แต่ยังครอบคลุมถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างการบำบัดน้ำเสีย โดยนำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัด รีไซเคิลให้กลับมาใช้ใหม่ภายในโรงงาน เพื่อลดการใช้น้ำดิบและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำทั้งในเหมืองและในพื้นที่โดยรอบมีคุณภาพตามมาตรฐาน

‘การบำบัดน้ำเสีย’ อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่เราได้หยิบมาฝากทุกคน เพราะ ‘น้ำ’ คือทรัพยากรจากธรรมชาติอันล้ำค่า นอกจากการรู้คุณค่าและใช้อย่างประหยัดซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่เราทุกคนมีต่อโลกใบนี้แล้ว การบริหารจัดการน้ำก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน 

‘การบำบัดน้ำเสีย’ อย่างมีประสิทธิภาพ คือหนึ่งในพันธกิจของเหมืองทองอัครา เรามุ่งมั่นใส่ใจและให้ความสำคัญในการจัดการน้ำเสียด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างรับผิดชอบ เพื่อสนับสนุนการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และสร้างความสมดุลให้แก่ระบบนิเวศในระยะยาว

@2024 AKARA RESOURCES COPYRIGHTED