‘ทองคำ’ แร่ล้ำค่าที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมานานนับพันปี ปัจจุบันถือเป็นสินทรัพย์ล้ำค่าที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ทั่วทุกมุมโลก แต่ทว่ากว่าจะได้มาซึ่งสินทรัพย์อันล้ำค่านี้ต้องผ่านกระบวนการสกัดอันซับซ้อน และต้องอาศัยทั้งเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม วันนี้เราจะพาไปเจาะลึก ‘เบื้องหลังการสกัดทองคำกับนวัตกรรมเหมืองแร่มาตรฐานสากล’ ณ เหมืองแร่ทองคำชาตรี ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หรือที่คุ้นหูกันในนามเหมืองทองอัครา ที่ใช้นวัตกรรมทันสมัย เพื่อให้ได้มาซึ่งทองคำบริสุทธิ์อย่างยั่งยืน
จากสินแร่สู่ทองคำบริสุทธิ์ เส้นทางที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีขั้นสูง
หลายคนน่าจะเคยได้ยินเกี่ยวกับ “ไซยาไนด์” ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการสกัดทองคำ และอาจมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่เหมืองแร่ทองคำชาตรี เราเข้าใจและตระหนักถึงความกังวลเหล่านี้ จึงให้ความสำคัญกับการควบคุมและจัดการสารเคมีอย่างปลอดภัย โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ภายใต้การดูแลของนักธรณีวิทยา วิศกรเหมืองแร่และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด
เปิดโลกนวัตกรรมและเทคโนโลยี หัวใจแห่งการขับเคลื่อนเหมืองแร่ทองคำชาตรี

ที่เหมืองทองอัครา หัวใจสำคัญของการทำเหมืองแร่ทองคำอย่างยั่งยืน คือ “นวัตกรรมและเทคโนโลยี” เรามุ่งมั่นพัฒนาและปรับปรุงแนวทางการทำเหมืองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ จึงได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและผ่านการรับรองมาตรฐานระดับสากลมาใช้ในการดำเนินงาน เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการผลิตของเรามีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมเหมืองแร่ที่เรานำมาใช้มีดังนี้
1. โดรน LiDAR เทคโนโลยี 3 มิติ เปลี่ยนโฉมการสำรวจเหมือง

ก่อนเริ่มขุดเจาะ เราต้องรู้จักพื้นที่ให้ดีที่สุด อัคราจึงใช้เทคโนโลยี LiDAR (Light Detection and Ranging) ที่ติดตั้งบนโดรนซึ่งเปรียบเสมือน ‘ตาวิเศษ’ ที่จะปล่อยคลื่นอินฟราเรดลงสู่พื้นดินเพื่อวัดระยะเวลาที่แสงสะท้อนกลับมา ในการคำนวณหาระยะทาง นำมาสร้างเป็นภาพ 3 มิติของพื้นที่ที่มีความละเอียดสูง
ซึ่งเทคโนโลยีนี้สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างแม่นยำแม้ในพื้นที่ป่ารกทึบ แสงน้อย หรือมีภูมิประเทศซับซ้อน ช่วยให้นักธรณีวิทยาวางแผนการทำเหมืองได้อย่างละเอียด ระบุตำแหน่งและประเมินปริมาณแหล่งแร่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เหมือง (เช่น การทรุดตัว / พังทลายของดิน) ลดการขุดเจาะที่ไม่จำเป็น ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวางแผนฟื้นฟูพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. บ่อกักเก็บหางแร่ (TSF) ระบบปิด ป้องกันการรั่วไหล (Zero Leakage)

อัคราให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของบ่อกักเก็บกากแร่ (TSF) โดยออกแบบให้เป็นระบบปิด ป้องกันการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม (Zero Leakage) โดยบ่อกักเก็บหางแร่ของเราได้รับการออกแบบ ควบคุมการก่อสร้าง และตรวจสอบโดย Knight Piésold บริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมชั้นนำระดับโลก
การก่อสร้างเริ่มต้นตั้งแต่การปรับหน้าดิน กำจัดรากไม้และลอกหน้าดินออกจนถึงหน้าดินแข็ง จากนั้นบดอัดดินเหนียวและดินลูกรังที่มีความสามารถในการซึมผ่านต่ำให้ทั่วพื้นที่บ่อ แล้วจึงปูพื้นและผนังของบ่อด้วยแผ่น HDPE Geomembrane แผ่นพลาสติกชนิดพิเศษที่มีความหนาแน่นสูง เหนียว ทนทานต่อสารเคมีและป้องกันการรั่วซึมได้อย่างดีเยี่ยม และวางระบบระบายน้ำและถมดินทับ พร้อมทำคันดินจากดินเหนียวที่เสริมด้วยหิน ซึ่งทุกขั้นตอนออกแบบและควบคุมโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ พร้อมตรวจสอบคุณภาพอย่างเข้มงวด
3. น้ำทุกหยด… หมุนเวียนไม่สิ้นสุด

น้ำในบ่อกักเก็บหางแร่ของอัคราไม่ได้ถูกปล่อยทิ้งไว้ แต่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ 100% ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่าและช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง
โดยหางแร่จากกระบวนการผลิตจะยังมีไซยาไนด์หลงเหลืออยู่และจะถูกส่งไปบำบัดในถังชะล้างไซยาไนด์ ซึ่งจะลดความเข้มข้นของไซยาไนด์ลงให้มีปริมาณน้อยกว่า 20 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ตามข้อกำหนด โดยเทียบเท่าใกล้เคียงกับปริมาณไซยาไนด์ในหน่อไม้ กาแฟ หรือเกลือ ก่อนจะถูกลำเลียงผ่านท่อไปยังบ่อกักเก็บหางแร่ ไซยาไนด์ที่หลงเหลืออยู่ในบ่อกักเก็บหางแร่จะแตกตัวและระเหยไปเมื่อสัมผัสกับแสงแดดและออกซิเจน สุดท้ายน้ำที่ผ่านการบำบัดจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิต
ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำดิบได้มากถึง 307,679 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน เรียกได้ว่าเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ได้อีกด้วย
4. นวัตกรรมระเบิดแบบหน่วงเวลา ลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

อัคราใช้เทคนิคการระเบิดแบบหน่วงเวลา มาใช้ในการทำเหมือง เพื่อช่วยลดแรงสั่นสะเทือน เสียง และฝุ่นละอองที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการทำเหมือง ให้อยู่ในระดับปลอดภัยตามมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ อัครายังได้ติดตั้งเครื่องวัดระดับเสียงรอบโครงการ 9 จุด โดยระดับเสียงเฉลี่ยอยู่ที่ 50 เดซิเบล ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนด และติดตั้งเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนไว้ในหมู่บ้านใกล้เคียง 7 แห่ง โดยผลการประเมินแรงสั่นสะเทือนอยู่ในเกณฑ์ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์กำหนด รวมถึงมีการตรวจวัดคุณภาพอากาศและฝุ่นอย่างสม่ำเสมอ
5. ISOtainer ระบบจัดการไซยาไนด์อัตโนมัติเพื่อความปลอดภัย

ในการสกัดทองคำ ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มีบทบาทสำคัญ แต่ก็เป็นสารที่ต้องได้รับการจัดการอย่างระมัดระวังสูงสุด อัคราจึงนำระบบ ISOtainer มาใช้เพื่อควบคุมการผสมและใช้งานไซยาไนด์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยระบบนี้ทำงานในรูปแบบ Closed-loop system หรือระบบปิด ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการรั่วไหลและป้องกันการสัมผัสสารเคมีโดยตรงของพนักงาน
ISOtainer เป็นระบบผสมไซยาไนด์อัตโนมัติควบคุมอัตราส่วนการผสมไซยาไนด์กับน้ำตามที่กำหนดไว้อย่างแม่นยำ ทำให้ได้สารละลายไซยาไนด์ที่มีความเข้มข้นสม่ำเสมอพร้อมใช้งาน จากนั้นสารละลายนี้จะถูกส่งไปยังกระบวนการสกัดทองคำโดยตรง อีกทั้งการใช้ ISOtainer ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขนย้าย ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการสัมผัสสารเคมีโดยตรงของพนักงาน ลดโอกาสในการรั่วไหล หรือสัมผัสโดยไม่จำเป็น
มากกว่าเทคโนโลยีคือความรับผิดชอบ นวัตกรรมเหมืองทองที่อัคราจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่เทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่คือความรับผิดชอบที่ฝังอยู่ในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน เรามุ่งมั่นที่จะเป็นเหมืองแร่ที่ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
และนี่ก็คือส่วนหนึ่งของเบื้องหลังเส้นทางสู่ทองคำบริสุทธิ์ของเหมืองทองอัครา ที่พร้อมพิสูจน์ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่และการดูแลสิ่งแวดล้อม สามารถเดินเคียงคู่กันไปได้ด้วยนวัตกรรมเหมืองทองที่ทันสมัย ภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคมและความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน