นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ หัวหน้าผู้จัดการทั่วไป บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำชาตรี เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทฯ กลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ใช้งบประมาณกว่า 2,600 ล้านบาทในการยกเครื่องซ่อมแซมเครื่องจักรและโรงประกอบโลหกรรมทั้ง 2 แห่ง รวมถึงอาคารสถานที่สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในเหมือง จนแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2567 ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถเดินกำลังการผลิตได้อย่างเต็มรูปแบบ และคาดว่าจะป้อนเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยได้กว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี ผ่านการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศ การจ้างงานทั้งทางตรงและผ่านผู้รับเหมาในพื้นที่ประมาณ 1,000 คน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะจ้างคนในพื้นที่ให้ได้ 90% เพื่อสร้างเสริมเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนรอบเหมือง สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต และประการสำคัญ การชำระค่าภาคหลวงแร่ให้แก่รัฐ
นับจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2567 บริษัทได้ชำระค่าภาคหลวงให้รัฐไปแล้วมากกว่า 500 ล้านบาท โดยนายเชิดศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “ค่าภาคหลวงที่บริษัทฯ ชำระนั้น จะถูกจัดสรรเป็นรายได้ของรัฐ 40% และส่วนที่เหลือจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ที่ประทานบัตรตั้งอยู่” ในส่วนของจังหวัดพิจิตรได้รับการจัดสรรเงินค่าภาคหลวงแร่ให้ อบต. 20% และ อบจ. อีก 20% หรือหน่วยงานละ ประมาณ 23 ล้านบาท ซึ่งมากพอที่จะเสริมงบประมาณปกติที่ได้รับจากส่วนกลาง และจะช่วยเสริมศักยภาพของทั้งสององค์กรในการดูแลประชาชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งค่าภาคหลวงแร่นี้ช่วยให้เกิดงานและโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่จำนวนมาก นอกจากนี้ อัครายังได้นำเงินเข้ากองทุนตามที่กฎหมายกำหนด จำนวน 4 กอง อีกประมาณ 100 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมการสนับสนุนแก่ชุมชนโดยตรงจากงบประมาณของบริษัทในกิจกรรมเกี่ยวกับการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ การศึกษา และกิจกรรมทางกีฬา ศาสนา และสังคม ที่บริษัทฯ ทำด้วยความสมัครใจ ต่อจากนี้ บริษัทฯ จะเดินหน้าตามวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้ไทยเป็น “ฮับทองคำ” (Gold Hub) ของภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับพันธมิตรธุรกิจกลางน้ำและปลายน้ำของอุตสาหกรรมทองคำ โดยจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้สินค้าทองคำและเงินของไทยผ่านเกณฑ์ FTA เพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากประเทศคู่ค้า เช่น การลดหย่อนภาษีนำเข้าของประเทศปลายทางจากการใช้ทองคำและเงินที่สกัดและแปรรูปในไทย ตามหลักเกณฑ์ที่มีสัดส่วนมูลค่าการผลิตและวัตถุดิบในประเทศ (Local Content) อย่างน้อย 40% ของต้นทุน สร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการไทยในตลาดต่างประเทศ สอดรับกับนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการเข้าทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ เพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติมายังประเทศไทย