เปิดความลับโลกเหมืองแร่! กับ “บ่อกักเก็บกากแร่” ที่ปลอดภัยและยั่งยืน

เคยสงสัยกันไหม… ว่ากากแร่ที่เหลือจากการทำเหมืองทองคำ เขาเอาไปเก็บไว้ที่ไหน ? วันนี้ Master K จะพาทุกท่านไปไขข้อข้องใจพร้อมเปิดโลก ‘บ่อกักเก็บกากแร่’ แห่งเหมืองทองอัคราอย่างใกล้ชิด ถึงระบบการจัดการที่ไม่ได้มีดีเพียงแค่การผลิตทองคำ แต่ยังให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

Master K EP.1 (with TH sub)

Master K พาคุณไปดูถึงที่! เห็นให้ชัดกับตาว่าบ่อกักเก็บกากแร่ของอัคราไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หากแต่เป็นระบบที่ได้รับการออกแบบและสร้างมาอย่างดีเพื่อรองรับกากแร่ที่เหลือหลังจากการสกัดทองคำ ให้ปลอดภัยต่อทั้งคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม

บ่อกักเก็บกากแร่ คืออะไร ทำไมเหมืองต้องมี ?

หากให้อธิบายง่าย ๆ ‘บ่อกักเก็บกากแร่’ (Tailings  Storage  Facility หรือ TSF) ก็คือบ่อขนาดใหญ่ที่เหมืองทองของเราออกแบบมาเป็นพิเศษร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการดูแลความปลอดภัย เพื่อใช้กักเก็บกากแร่ที่เหลือจากการสกัดทองคำ ซึ่งกากแร่เหล่านี้ไม่ใช่อะไรที่อันตราย เป็นเพียงดิน หิน ทรายและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ถูกบดละเอียดและผ่านกระบวนการแยกเอาสินแร่ทองคำออกไปแล้วนั่นเอง โดยกากแร่ดังกล่าวจะถูกส่งตรงมาจากโรงงานผ่านท่อเหล็กกล้าที่แข็งแรงในรูปของเหลวข้น ๆ คล้ายโคลน ซึ่งประกอบด้วยน้ำประมาณ 50% และกากแร่อีก 50%

คำถามต่อมาคือ… แล้วทำไมต้องมีบ่อแบบนี้ ? ก็เพื่อป้องกันไม่ให้กากแร่เหล่านี้ไปปนเปื้อนกับแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือฟุ้งกระจายไปในอากาศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้ เรียกได้ว่า ‘บ่อกักเก็บกากแร่’ คือหัวใจสำคัญของการทำเหมืองแร่อย่างมีความรับผิดชอบ

“น้ำ” ในบ่อคือพระเอก เพราะเรานำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ 100%

ที่เหมืองทองอัคราน้ำที่อยู่ในบ่อกักเก็บกากแร่ไม่ได้ถูกปล่อยทิ้งไปไหน แต่จะถูกนำกลับมา Reuse หมุนเวียนใช้ในกระบวนการผลิตแบบ 100% ด้วยเทคโนโลยีการรีไซเคิลและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งก็คือเทคโนโลยี Zero Discharge (ZD) Closed Lock ซึ่งเป็นแนวคิดที่ออกแบบมาเพื่อบำบัดและนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่แทนการปล่อยทิ้งไปเป็นน้ำเสีย (0% discharge) ทำให้อัคราเราลดการใช้น้ำดิบได้มากถึง 307,679 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ‘น้ำ’ ที่นี่ไม่ได้ไหลออกไปปนเปื้อนข้างนอกแน่นอน เรียกได้ว่าเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อชุมชนและช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ได้อีกด้วย 

บ่อกักเก็บกากแร่ของอัครามีอะไร ทำไมถึงเป็นสีฟ้า ?

ในบ่อกักเก็บกากแร่ของอัครามีอะไร ทำไมถึงเป็นสีฟ้า ? อันตรายไหม !

หากสังเกตน้ำในบ่อกักเก็บกากแร่อาจปรากฏเป็นสีฟ้าอ่อน แต่อย่าเพิ่งกังวลไป! เพราะสีฟ้าอ่อนที่ทุกคนเห็นนั้นเป็นสีที่เกิดจากแร่ธาตุตามธรรมชาติที่ละลายอยู่ในน้ำ ไม่ใช่สารเคมีอันตรายแต่อย่างใด

สำหรับประเด็น ‘ไซยาไนด์’ ที่อาจเป็นข้อกังวล อัคราฯ ขอชี้แจงว่าไซยาไนด์ถูกนำมาใช้ในกระบวนการสกัดทองคำในปริมาณที่จำกัดและอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด โดยเมื่อไซยาไนด์อยู่ในบ่อกักเก็บกากแร่ สัมผัสกับแสงแดดและออกซิเจนจะเกิดการสลายตัวตามธรรมชาติกลายเป็นสารประกอบอื่นที่ไม่เป็นพิษ เช่น คาร์บอเนตและไนโตรเจน จึงมั่นใจได้ในความปลอดภัยของน้ำในบ่อกักเก็บกากแร่ของเรา

แน่นหนา ปลอดภัย ไร้กังวล ด้วยนวัตกรรมที่ได้มาตรฐานระดับสากล

ความปลอดภัยของบ่อกักเก็บกากแร่คือสิ่งที่อัคราให้ความสำคัญสูงสุด ที่นี่เราไม่ได้สร้างบ่อแบบธรรมดา ๆ แต่มีการออกแบบและก่อสร้างตามมาตรฐานสากล พร้อมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ผ่านแนวคิด Zero Leakage ที่มุ่งเน้นการป้องกันการรั่วไหลของน้ำจากบ่อกักเก็บกากแร่ ดังนี้

  • ออกแบบโครงสร้างและก่อสร้างอย่างพิถีพิถัน: ทุกขั้นตอนการก่อสร้างตั้งแต่การปรับหน้าดิน กำจัดหน้าดิน กำจัดรากไม้ และลอกหน้าดินออกจนถึงหน้าดินแข็ง จากนั้นบดอัดชั้นดินเหนียวและดินลูกรังที่มีความสามารถในการซึมผ่านต่ำให้ทั่วพื้นที่บ่อกักเก็บกากแร่ ปูพื้นกั้นบ่อกักเก็บกากแร่รั่วซึมด้วยแผ่นพลาสติกคุณภาพสูง วางระบบระบายน้ำและการถมดินทับ พร้อมทำคันดินจากดินเหนียวที่เสริมด้วยหิน ทุกขั้นตอนล้วนผ่านกระบวนการคิดและออกแบบอย่างพิถีพิถัน รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพทางวิศวกรรมอย่างเข้มงวด
  • ใช้วัสดุสุดแกร่ง ทนทาน: พื้นบ่อถูกปูด้วยแผ่น HDPE Geomembrane ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดพิเศษที่มีความหนาแน่นสูง เหนียว ทนทาน ทนต่อสารเคมีและป้องกันการรั่วซึมได้อย่างดีเยี่ยมทั้งบนพื้นและผนังของบ่อกักเก็บ เพื่อป้องกันการซึมผ่านของน้ำและสารเคมี ซึ่งเป็นมาตราฐานระดับสากล 
  • ติดตั้งระบบระบายน้ำใต้บ่อและลดแรงดันใต้บ่อ: ระบบระบายน้ำใต้บ่อกักเก็บกากแร่และท่อระบายน้ำบริเวณฐานคันดิน ถูกติดตั้งขึ้นเพื่อช่วยลดแรงดันต่อแผ่นกันรั่วซึม และเพิ่มความหนาแน่นของหางแร่ ที่จะทำให้มีพื้นที่กักเก็บกากแร่ได้มากขึ้น ซึ่งน้ำที่ได้ระบายออกจากระบบระบายน้ำจะถูกพักไว้ที่ก้นบ่อ ก่อนจะถูกส่งต่อไปยังบ่อรวบรวมน้ำใต้ดินและนำกลับมาใช้ใหม่ภายในโรงงาน
  • วางระบบรวบรวมน้ำซึม: ที่ด้านล่างสุดของบ่อกักเก็บกากแร่จะมีบ่อรวบรวมน้ำซึม ซึ่งเป็นบ่อพักน้ำที่ถูกระบายมาจากบ่อกักเก็บกากแร่ ซึ่งจะถูกนำกลับไปใช้ภายในโรงงานผ่านระบบท่อเดียวกันกับระบบระบายน้ำใต้บ่อ
  • ติดตั้งระบบตรวจสอบและเฝ้าระวัง: เพื่อความมั่นใจและปลอดภัยสูงสุด เราได้ติดตั้งระบบตรวจจับการรั่วซึม หรือการเปลี่ยนแปลงของพารามิเตอร์ทางธรณีวิทยา เช่น พิโซมิเตอร์แบบลวดสั่นสะเทือน (Vibrating Wire Piezometer), หมุดสำรวจ (Survey Pins) หลุมตรวจสอบน้ำบาดาลและสถานีเก็บตัวอย่างน้ำผิวดิน เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยที่ครอบคลุมทุกด้านอยู่เสมอ
บ่อกักเก็บกากแร่ แน่นหนา ปลอดภัย ไร้กังวล ด้วยนวัตกรรมที่ได้มาตรฐานระดับสากล

ซึ่งรอบ ๆ บ่อกักเก็บกากแร่ เราจะเห็นพืชพรรณขึ้นเขียวขจี มีทั้งหญ้าและต้นไม้ แถมยังมีฝูงเป็ด ฝูงนก มาอาศัยอยู่ด้วย สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ คือเครื่องยืนยันถึงความปลอดภัยต่อระบบนิเวศและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของบ่อกักเก็บกากแร่แห่งนี้ได้อย่างชัดเจนเลย

ทุกความปลอดภัยดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญ

อัคราใส่ใจทุกกระบวนการ มั่นใจทุกการดูแลในทุกบ่อกักเก็บกากแร่

นอกจากนี้ ในการออกแบบและควบคุมการก่อสร้างบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 2 อัคราได้ร่วมมือกับ Knight Piésold ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมชั้นนำระดับโลก อีกทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและวิศวกรรมระบบจัดการกากแร่มาควบคุมดูแลทุกขั้นตอน เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างล้วนผ่านการคัดสรรมาเป็นอย่างดี โดยโครงสร้างกรอบหินด้านนอกบ่อจะเป็นการจัดสรรวัสดุที่ไม่มีสินแร่ซึ่งได้มาจากการทำเหมือง ถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงสร้างกรอบนอก ส่วนโครงสร้างดินเหนียวกรอบด้านในบ่อได้คัดสรรวัสดุที่ผ่านการตรวจสอบว่าเหมาะสมเพื่อป้องกันการรั่วซึม จากนั้นนำวัสดุดินเหนียวที่ผ่านการคัดสรรมาถมให้ได้ความหนาชั้นละ 30 เซนติเมตร และทำการตรวจสอบมาตรฐานความชื้นและความหนาแน่น ก่อนทำการถมขึ้นชั้นถัดไป จนได้ความสูงตามที่ออกแบบไว้ในแต่ละปี

การตรวจสอบมาตรฐานโครงสร้างดินเหนียวทุกชั้นจะต้องผ่านการทดสอบทางวิศวกรรมอย่างเข้มงวด เช่น การวิเคราะห์ขนาดอนุภาค (Sieve Analysis) การทดสอบการบดอัด (Standard Compaction) การทดสอบค่าพิกัดความเหลวของดินและค่าความชื้นในดินขณะที่ดินเปลี่ยนสภาพจากพลาสติกเป็นกึ่งของแข็ง (Atterberg) การทดสอบความหนาแน่นในสนาม (Field density test ) และหลังจากทำโครงสร้างดินเหนียวแล้วเสร็จ อีกขั้นตอนที่สำคัญคือ การปูผนังบ่อภายในด้วย HDPE Geomembrane ซึ่งเป็นแผ่นพลาสติกคุณภาพสูงในการป้องกันการรั่วซึมอีก 1 ชั้น เพื่อให้มั่นใจว่าบ่อกักเก็บกากแร่มีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยสูงสุด

ยิ่งไปกว่านั้น อัคราฯ ยังได้รับการตรวจสอบและกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และหน่วยงานอื่น ๆ อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญอิสระจาก Behre Dolbear International Limited (BDIL) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านเหมืองแร่ระดับโลก (ตามที่ กพร. เป็นผู้คัดเลือก) เพื่อประเมินการดำเนินงานทั้งหมดของเหมืองอีกด้วย

อัคราใส่ใจทุกกระบวนการ มั่นใจทุกการดูแลในทุกบ่อกักเก็บกากแร่

แม้ที่ผ่านมาจะมีข้อพิพาทเกี่ยวกับบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 แต่บริษัทฯ ขอยืนยันว่าบ่อกักเก็บกากแร่ทั้ง 2 บ่อของอัคราฯ รวมถึงบ่อที่ 1 นั้น ไม่มีการรั่วซึม อีกทั้งได้ดำเนินการทุกขั้นตอนตามมาตรฐาน พร้อมทั้งจัดทำแผนการปิดและฟื้นฟูบ่ออย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบและกำกับดูแลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA, EHIA) เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดของชุมชนเป็นสำคัญ

อัครา รีซอร์สเซส เราใส่ใจทุกกระบวนการ มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพราะเราเชื่อว่าการทำเหมืองแร่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและส่งเสริมความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมได้

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ ‘บ่อกักเก็บกากแร่’ ของเหมืองทองอัครา ที่ Master K นำมาฝากกันในวันนี้ หวังว่าทุกคนคงได้เห็นแล้วว่าบ่อกักเก็บกากแร่ไม่ได้น่ากังวลอย่างที่คิด แต่เป็นระบบที่ถูกออกแบบและสร้างมาอย่างพิถีพิถันในทุกขั้นตอน ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าปลอดภัย ได้มาตรฐานและไม่มีการรั่วซึม

รู้จัก 5 หินแร่ใกล้ตัว ที่คุณอาจไม่รู้ว่ามีประโยชน์มากมาย!

รอบตัวเราเต็มไปด้วยสิ่งมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้น หนึ่งในนั้นคือ ‘หินและแร่’ วัตถุดิบธรรมชาติที่อยู่คู่กับโลกเรามาเนิ่นนาน แต่รู้หรือไม่ว่า… หินและแร่ใกล้ตัวที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้มีความสำคัญและมีประโยชน์มากกว่าที่คิด! ที่เหมืองแร่ทองคำชาตรี เราจึงอยากชวนทุกท่านไปทำความรู้จักกับโลกของหินและแร่ใกล้ตัวรอบเหมืองทอง ว่ามีหินอะไรบ้าง หินแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร มีประโยชน์อย่างไรบ้าง หรือแม้กระทั่งหินแร่ทองคำ อยู่ในหินอะไร มาตามหาคำตอบกันได้ที่นี่

เรื่องราวของหินและแร่คืออะไร เกิดมาจากอะไรกันนะ ?หินและแร่นั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญของเปลือกโลก เป็นแหล่งกำเนิดของทรัพยากรธรรมชาติและเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงความเชื่อและวัฒนธรรมของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอีกด้วย โดยหินและแร่นั้นแตกต่างกัน ดังนี้

  • แร่ เกิดจากกระบวนทางธรณีวิทยา ที่เกี่ยวข้องกับการรวมตัวของธาตุต่าง ๆ ในเปลือกโลก เช่น การตกผลึกของแมกมา การตกตะกอนในน้ำ หรือการเปลี่ยนแปลงของแร่เดิมจากแรงดันและอุณหภูมิสูง
  • หิน เกิดจากการรวมตัวกันของแร่ตั้งแต่ 1 ชนิดขึ้นไป ผ่านกระบวนการทางธรณีวิทยาอันยาวนาน ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลักได้แก่ หินอัคนี (Igneous rocks) ที่เกิดจากการเย็นตัวของแมกมาใต้ผิวโลก หรือลาวาที่ถูกพ่นออกมา, หินตะกอน (Sedimentary rocks) ที่เกิดจากการสะสมและทับถมร่วมกันของตะกอนหินแร่ต่าง ๆ และหินแปร (Metamorphic rocks) ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายใต้ความร้อนและแรงดันมหาศาลทำให้หินและแร่ปรับตัวและตกผลึกกลายเป็นหินใหม่ ๆ 

นอกจากนี้ กระบวนการเกิดหินและแร่เหล่านี้สามารถเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า วนเวียนตามกาลเวลาจนกลายเป็นวัฏจักรของหิน (Rock Cycle) และทำให้เกิดเป็นหินประเภทอื่น ๆ ได้ตามเวลาและตามสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้น ดังนั้นหินและแร่เหล่านี้จึงมีความสำคัญทางธรณีวิทยาที่ช่วยให้เราสามารถเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวโลกและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในช่วงเวลาต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อมนุษย์นั่นเอง

พาตะลุยรอบเหมือง ! กับ 5 หินและแร่ที่สามารถพบเจอได้ใกล้เหมือง… จะมีหินแร่ชนิดไหนบ้าง ?

1. แคลไซต์ (Calcite)

แร่แคลไซต์ แร่แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO₃)

ลักษณะ: แร่แคลไซต์เป็นแร่แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO₃) ที่พบได้ในหินปูน หินชอล์ก หรือหินแปรชนิดต่าง ๆ มีลักษณะเป็นผลึกใสหรือขุ่น สีขาวหรือเหลืองอ่อน โดยมักจะมีลักษณะเป็นแผ่นบางหรือผลึกสามเหลี่ยม ซึ่งหากนำกรดเกลือมาหยดลงหินแร่แคลไซต์ หินจะทำปฏิกิริยาเกิดเป็นฟองฟู่ขึ้นมา นอกจากนี้ แร่แคลไซต์สามารถเกิดเป็นสายแร่แคลไซต์ (Calcite vein) ตัดแทรกเข้าไปในหินชนิดต่าง ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น หินแร่แคลไซต์ที่เหมืองทองคำชาตรี เกิดร่วมกับสายแร่ควอตซ์อุ้มสินแร่ทองคำที่ตัดแทรกเข้ามาในหินภูเขาไฟ 

ประโยชน์ของแร่แคลไซต์:

  • นำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ เป็นส่วนประกอบหลักในหินปูนที่ใช้ในการสร้างอาคารและถนน
  • ใช้ในอุตสาหกรรมเคมี เพื่อผลิตแคลเซียมออกไซด์ (CaO) หรือที่ทั่วไปเรียกกันว่าปูนขาว
  • ใช้ในงานตกแต่ง เช่น เป็นหินอ่อนในการทำพื้นหรือแผ่นปูพื้น
  • ใช้ในการทำอุปกรณ์เกี่ยวกับกล้องจุลทรรศน์แบบ Polarizing microscope
  • เป็นแร่ที่สำคัญในการผลิตแสงเลเซอร์

2. แมกนีไทต์ (Magnetite)

แมกนีไทต์ (Magnetite)

ลักษณะ: แมกนีไทต์เป็นแร่เหล็กออกไซด์ (Fe₃O₄) ที่พบทั่วไปในหินอัคนีที่เกิดจากการตกผลึก มีลักษณะเป็นสีดำหรือสีเทาเข้ม มีคุณสมบัติทางแม่เหล็กที่สามารถดูดหรือถูกดูดโดยแม่เหล็กได้ จึงสามารถตรวจสอบหินแร่ชนิดนี้ได้ด้วยการนำแม่เหล็กมาทดสอบนั่นเอง ซึ่งหินแร่แมกนีไทต์นี้เป็นอีกหนึ่งสินแร่ที่สําคัญในวงการอุตสากรรมที่เกี่ยวข้องกับเหล็กและแม่เหล็ก

ประโยชน์ของแมกนีไทต์:

  • ใช้ในการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการถลุงเหล็ก
  • ใช้ในอุตสาหกรรมแม่เหล็กในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า
  • ใช้ในการทำแม่เหล็กและใช้ในงานวิจัยทางธรณีวิทยา

3. แร่ไพไรต์และสินแร่ทองคำ (Pyrite และ Gold Ore)

ความเหมือนที่แตกต่าง จนยากจะแยกออก… แร่ไพโรต์และสินแร่ทองคำเป็นหินแร่ที่เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย ด้วยลักษณะภายนอกที่คล้ายคลึงกันมากจนยากจะแยก จึงทำให้คนมักสับสนกันได้เสมอ โดยแร่ทั้ง 2 มีความแตกต่างกัน ดังนี้

แร่ไพไรต์ (Pyrite)

แร่ไพไรต์ (Pyrite)

ลักษณะ เป็นแร่ซัลไฟด์ที่ประกอบด้วยเหล็กซัลไฟด์ (FeS₂) มักพบอยู่ในลักษณะผลึกเป็นรูปลูกบาศก์ มีสีทองหรือเหลืองทองซึ่งมีความคล้ายคลึงกับทองคำมาก แต่เมื่อนำมาทดสอบด้วยการขูดกับดินเผาหรือกระเบื้อง จะให้ริ้วออกมาเป็นสีเขียวเข้ม หรือสีดำที่ดูเหมือนไม่มีคุณค่าเทียบเท่ากับทองคำ จึงมักถูกเรียกว่า ‘ทองคนโง่’ แต่ทั้งนี้แร่ไพไรต์นับเป็นสินแร่กำมะถันที่สำคัญโดยเป็นสารตั้งต้นของกรดกำมะถันนั่นเอง

ประโยชน์หินแร่ไพไรต์: 

  • ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ผลิตกรดซัลฟูริกและเป็นแหล่งของกำมะถัน
  • ใช้เป็นกรดตั้งต้นซึ่งใช้ในการทำสีย้อมและการทำหมึก
  • ทำยารักษาเนื้อไม้และยาฆ่าเชื้อโรค
  • ใช้เป็นส่วนประกอบของโซล่าเซลล์
  • ในบางประเทศที่หาแหล่งเหล็กออกไซด์ไม่ได้ แร่ไพไรต์จะถูกใช้เป็นแหล่งสินแร่เหล็ก 

สินแร่ทองคำ (Gold Ore)

สินแร่ทองคำ

ลักษณะสินแร่ทองคำ: หากถามว่าแร่ทองคําอยู่ในหินอะไร ต้องบอกว่าสามารถพบได้ในหินเกือบทุกชนิด โดยสินแร่ทองคำเป็นแร่ที่มีสีเหลืองวาวแบบโลหะ ลักษณะเป็นเกล็ดหรือก้อนกลม ซึ่งหากนำไปขูดกับกระเบื้องหรือดินเผาจะทิ้งริ้วสีเหลืองและมีลักษณะยืดเหนียว สำหรับการสกัดสินแร่ทองคำจะต้องใช้ความชำนาญผ่านกระบวนการทางเคมีและกายภาพเพื่อแยกทองคำออกมา ดังเช่น สินแร่ทองคำที่เกิดในแหล่งแร่ทองคำชาตรี คือ สายแร่ควอตซ์แคลไซต์ซัลไฟด์ที่อุ้มสินแร่ทองคำขนาดเล็ก (ไมครอน) ซึ่งตัดแทรกเข้ามาในหินตะกอนภูเขาไฟชนิดแอนดีไซต์ (Andesite) 

ประโยชน์สินแร่ทองคำ:

  • นำไปใช้ในการทำเครื่องประดับ ทำเหรียญและทองแท่งเพื่อเก็บรักษามูลค่าหรือลงทุนเป็นหลัก
  • ประกันในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 
  • ใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในวงการทันตแพทย์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ในอากาศยาน

4. ไม้กลายเป็นหิน (Petrified Wood)

ลักษณะไม้กลายเป็นหิน: เป็นหินที่มีลักษณะภายนอกเห็นเป็นเส้นริ้วๆ คล้ายลายไม้ ภายในมีสีหลากหลายสี โดยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของแร่ธาตุภายใต้กระบวนการย่อยสลายของไม้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักเป็นแร่ธาตุซิลิกา (SiO₂) ที่เข้าไปแทนที่โครงสร้างของเซลล์ไม้อย่างช้า ๆ หลายร้อยปีจนเปลี่ยนโครงสร้างไม้ให้กลายเป็นหินได้ในที่สุด อีกทั้งสีสันที่หลากหลายในเนื้อไม้มาจากการมีแร่ธาตุผสมอยู่ เช่น สีเขียวหรือฟ้า ได้จากทองแดงหรือโครเมียม สีดำได้จากคาร์บอนหรือแมงกานีสออกไซด์ สีแดง เหลือง น้ำตาลได้จากเหล็กออกไซด์ เป็นต้น

ประโยชน์ไม้กลายเป็นหิน:

  • ใช้สำหรับตกแต่ง เช่น การทำเครื่องประดับหรือโมเดล
  • เป็นวัตถุดิบในงานวิจัยทางธรณีวิทยา เนื่องจากช่วยให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ของโลก
  • ใช้ในงานวิจัยเกี่ยวกับพืชโบราณหรือฟอสซิล

5. แร่ควอตซ์ (Quartz)

ลักษณะแร่ควอตซ์

ลักษณะแร่ควอตซ์: ควอตซ์หรือชื่อภาษาไทยว่า หินเขี้ยวหนุมาน เป็นแร่ที่ประกอบด้วยซิลิกอนไดออกไซด์ (SiO₂) มีลักษณะเป็นแท่งยาวปลายแหลมทั้งหัวและท้าย แวววาวคล้ายแก้วแต่มีสีหลากหลาย ตั้งแต่สีใส สีขาวไปจนถึงสีม่วง สีชมพูหรือสีเหลืองได้ โดยเป็นหินแร่ที่เกิดจากการรวมตัวของแร่ที่ได้จากการผุพังของหินอัคนี ซึ่งแร่ควอตซ์นี้เป็นแร่ประกอบหินหลักในหินแทบทุกชนิด เช่น หินแกรนิต หินทราย และหินควอตซ์ไซต์ เป็นต้น

ประโยชน์แร่ควอตซ์:

  • ใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การผลิตชิปคอมพิวเตอร์และเซลล์แสงอาทิตย์
  • ใช้ในการทำเครื่องประดับ เช่น พลอยควอตซ์, อเมทิสต์, และโรสควอตซ์
  • ใช้ในอุตสาหกรรมแก้วและวัสดุก่อสร้าง เช่น หินควอตซ์และกระเบื้อง
  • ใช้ทำเครื่องมือวิทยาศาสตร์และเครื่องมือทางแสง เช่น เลนส์ ปริซึมและกล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษ

Master K EP.2 หินและแร่ หินธรรมดา… ที่ไม่ธรรมดา

Master K EP.2 (with ENG sub)

เห็นไหมว่า 5 หินแร่ที่เรากล่าวถึงข้างต้นล้วนมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และมีการใช้ประโยชน์ในหลากหลายแง่มุม ทั้งในด้านการก่อสร้าง การผลิตพลังงาน การทำเครื่องมือวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงการทำเครื่องประดับได้อีกด้วย เรียกได้ว่าโลกของหินและแร่ยังมีเรื่องราวและความมหัศจรรย์อีกมากมายที่รอให้เราค้นหาและเรียนรู้ มาเปิดใจและสัมผัสความงามของธรรมชาติรอบตัว แล้วคุณจะพบว่าหินและแร่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ก้อนหินธรรมดา แต่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ซ่อนคุณค่าและความลับเอาไว้มากมาย !

แหล่งอ้างอิง:
https://www.dmr.go.th/calcite
https://www.dmr.go.th/magnetite

บ่อน้ำสีฟ้า ไขข้อสงสัย ทำไมบ่อน้ำในเหมืองถึงมีสีฟ้า?

เคยสงสัยกันไหมครับว่า ทำไมน้ำในบ่อเหมืองถึงมีสีฟ้า มาร่วมหาคำตอบใน Master K EP.3 กันเลย 💙💛

“การวัดค่าดิน” กุญแจสำคัญ…สู่การพัฒนาเกษตรกรรมรอบเหมืองทองอัคราอย่างยั่งยืน

หากกล่าวถึงทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นรากฐานของระบบนิเวศ “ดิน” คือองค์ประกอบสำคัญที่เชื่อมโยงกับทุกการดำรงชีวิตบนโลก ตั้งแต่รับหน้าที่ให้พืชพันธุ์ได้หยั่งรากลึก เติบโตและยืนต้นได้อย่างมั่นคงแข็งแรง จนต่อยอดเป็นอาหารของมนุษย์และสัตว์ ไปจนถึงจุลินทรีย์ตัวจิ๋วที่ช่วยรักษาสมดุลของธรรมชาติ หากดินขาดความอุดมสมบูรณ์และสมดุลทางชีวภาพ วงจรของธรรมชาติย่อมได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ “การตรวจวัดค่าดิน” กลายเป็นกุญแจสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในพื้นที่รอบเหมืองทองอัคราซึ่งแม้จะมีภาพจำจากการขุดแร่ล้ำค่าใต้ผืนดิน แต่เบื้องหลังคือความมุ่งมั่นในการฟื้นฟูและดูแลคุณภาพดิน เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรมและชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน 

เพื่อให้ได้คำตอบที่เข้าใจง่ายว่าการตรวจวัดค่าดินสำคัญอย่างไร? และจะมีวิธีใดในการฟื้นฟูดินให้กลับมาเพาะปลูกได้อีกครั้ง วันนี้เราจึงชวน คุณภูริวิทย์ สังข์ศิริ หรือ Master K นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาของอัครา มาร่วมไขคำตอบไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้!

“การวัดค่าดิน” สำคัญต่อการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างไร ? 

การวัดค่าดิน คือกระบวนการตรวจสอบคุณภาพของดินในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะและคุณภาพของดินนั้น ๆ โดยการวัดค่าดินมักครอบคลุมถึงการตรวจสอบค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ปริมาณธาตุอาหารหลัก เช่น ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) รวมไปถึงการวัดระดับอินทรียวัตถุ โครงสร้างดิน และความสามารถในการอุ้มหรือระบายน้ำอย่างเหมาะสม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผนการเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่

เมื่อเกษตรกรรู้จักและเข้าใจคุณสมบัติของดินที่ตนเองมี ก็จะสามารถเลือกปลูกพืชได้อย่างเหมาะสม ตัดสินใจได้ว่าควรปรับปรุงดินด้วยวิธีใด ใช้ปุ๋ยชนิดไหน หรือจัดการน้ำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพและปริมาณของผลผลิตได้อย่างเห็นผล อีกทั้งยังช่วยป้องกันปัญหาดินเสื่อมโทรมในระยะยาว

ดินมีกี่ประเภท? เจาะลึกคุณสมบัติของดินแต่ละชนิดที่ควรรู้

ดิน คือวัสดุทั้งอินทรีย์และอนินทรีย์ที่อยู่บนพื้นผิวโลก ทำหน้าที่เป็นแหล่งรองรับการเจริญเติบโตของพืช โดยมีองค์ประกอบและโครงสร้างที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามลักษณะของแต่ละพื้นที่  ซึ่งดินในประเทศไทยมีจำแนกตามระบบอนุกรมวิธานดินออกเป็น 6 ระดับ ได้แก่ อันดับ (order), อันดับย่อย (suborder), กลุ่มดินใหญ่ (great group), กลุ่มดินย่อย (subgroup), วงศ์ (family) และชุดดิน (series) โดยหน่วยจำแนกที่เล็กที่สุดในระบบนี้คือ “ชุดดิน” 

ดินมีกี่ประเภท? เจาะลึกคุณสมบัติของดินแต่ละชนิดที่ควรรู้

ในปัจจุบันมีชุดดินที่เรียกได้ว่าเป็นตัวแทนดินที่พบในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยมากกว่า 200 ชุดดิน ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและธาตุอาหารในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การจำแนกลักษณะของดินโดยทั่วไปจะพิจารณาจากสี เนื้อดิน โครงสร้าง ความเป็นกรด-ด่าง และความลึกของดิน โดยเฉพาะเนื้อดิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพาะปลูก โดยสามารถแบ่งประเภทของดินตามลักษณะเนื้อดินได้เป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้

  1. ดินเหนียว คือดินที่มีเนื้อละเอียดมาก เมื่อแห้งจะจับตัวกันแข็ง แต่เมื่อเปียกน้ำจะมีความยืดหยุ่น สามารถขึ้นเป็นรูปต่าง ๆ ได้ จุดเด่นคือสามารถอุ้มน้ำได้ดี แต่การระบายน้ำและถ่ายเทอากาศค่อนข้างต่ำ จึงเหมาะกับพืชที่ต้องการน้ำมากอย่าง ข้าว พืชน้ำต่าง ๆ และผักสวนครัวบางชนิด เช่น บัว ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว หรือฟักทอง เป็นต้น
  2. ดินร่วน คือดินที่มีเนื้อละเอียดปานกลาง สามารถระบายน้ำได้ดีและอุ้มน้ำได้พอเหมาะ นอกจากนี้ ยังเป็นดินที่เอื้อต่อการหายใจของรากพืช จึงเหมาะสำหรับการเพาะปลูกพืชมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นพืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ดอก หรือไม้ประดับ รวมถึงพืชผักสวนครัว เช่น ผักบุ้ง ผักกาดขาว ฟักทอง หรือมันสำปะหลัง เป็นต้น
  3. ดินทราย คือดินที่มีลักษณะเป็นเม็ดดินหยาบ ไม่เกาะตัว ระบายน้ำและอากาศได้ดีมาก แต่อุ้มน้ำได้น้อย จึงถือว่าเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เหมาะกับพืชที่ทนแล้งหรือต้องการน้ำน้อย เช่น มันสำปะหลัง กระถิน ทองหลาง หรือผักบางชนิดที่เติบโตเร็ว เช่น คะน้า ผักกาดหอม แตงกวา มะเขือเทศ หรือมะระ เป็นต้น

ดินที่ดีต่อการเกษตรเป็นอย่างไร ?

ดินที่ดีในทางการเกษตร คือดินที่เหมาะสมต่อการปลูกพืช มีปริมาณน้ำและแร่ธาตุอาหารที่พอเพียงต่อการเจริญเติบโต เพื่อให้ผลผลิต สามารถปลูกพืชได้โดยใช้วิธีการจัดการดูแลตามปกติธรรมดาที่ไม่ยุ่งยาก สังเกตได้จากหน้าดินจะมีสีคล้ำหนา เพราะมีอินทรีย์วัตถุมากและมีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชสูง เนื้อดินร่วนซุย มีค่า pH ดินเป็นกลางอยู่ที่ 5.5 – 7.0 ไม่เป็นกรดหรือด่างจนเกินไป และไม่มีชั้นดานหรือชั้นหินที่ขัดขวางการเจริญเติบโตของรากพืชอยู่ในระดับตื้น

ดินไม่ดี… แก้ไขได้ แนวทางฟื้นฟูเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืนรอบเหมืองทองอัครา

นิยามของดินไม่ดี หมายถึงดินที่มีการปนเปื้อนหรือดินที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ในธรรมชาติโดยส่วนใหญ่ ดินไม่ดีมักเกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินมีองค์ประกอบที่ไม่เหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ หรือมีสมบัติทางกายภาพและเคมีที่ไม่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก ดินประเภทนี้จึงเป็นดินที่มีปัญหาทางด้านการเกษตร ทำให้พืชไม่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตตามปกติได้ อย่างไรก็ตาม จากการวัดค่าดินในแปลงนาของเกษตรกรและพื้นที่โดยรอบเหมืองทอง พบว่าดินมีลักษณะเป็นดินเปรี้ยว หรือเป็นกรดจัด ซึ่งถือเป็นดินที่มีปัญหา ไม่เหมาะสำหรับการปลูกพืช โดยปัญหานี้ได้รับการตรวจพบตั้งแต่ขั้นตอนการสำรวจและเก็บข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่โดยรอบก่อนเริ่มดำเนินการทำเหมือง

ดินไม่ดี... แก้ไขได้ แนวทางฟื้นฟูเพื่อการเกษตร

เมื่อสามารถตั้งข้อสังเกตต่อปัญหาและได้รับคำปรึกษาจากเกษตรกรในพื้นที่ ทางเหมืองทองอัคราจึงได้มีการบูรณาการความรู้ร่วมกับเกษตรกรและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผ่านการดำเนินโครงการคลินิกเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเกษตร โดยเฉพาะปัญหาดินรอบพื้นที่โครงการ พร้อมช่วยให้เกษตรกรได้รับการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมถึงให้การสนับสนุนโดโลไมท์ ธาตุอาหารเสริมจากธรรมชาติ และการปลูกปอเทืองเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด เนื่องจากเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีไนโตรเจนสูงช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน ซึ่งเป็นวิธีการเพื่อปรับปรุงดินเปรี้ยวจัด ร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินพิจิตร โดยเกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย 

การตรวจวัดค่าความอุดมสมบูรณ์ของดิน

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจวัดค่าความอุดมสมบูรณ์ของดินในพื้นที่บริเวณโดยรอบเหมืองอย่างละเอียด โดยจะมีการตรวจวิเคราะห์ค่าดินปีละ 2 ครั้ง คือก่อนฤดูกาลทำนา และหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวในพื้นที่ทำนาปี รวมถึงมีการตรวจวัดค่าการปนเปื้อนของโลหะหนักในดินปีละครั้ง ทั้งในพื้นที่โครงการและพื้นที่รอบนอก ตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA (Environmental Impact Assessment) พร้อมถ่ายทอดภูมิความรู้เบื้องต้นให้กับเกษตรกรเกี่ยวกับวิธีการตรวจวัดค่าความอุดมสมบูรณ์ของดิน ด้วยชุดทดสอบธาตุอาหารหลัก (N-P-K) และการตรวจค่า pH ดิน ผ่านการใช้กระดาษลิตมัสหรือเครื่องวัดดิจิทัลที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง รวมถึงการเลือกประเภทปุ๋ยให้ตรงกับความต้องการของพืชเพื่อลดต้นทุนทางการเกษตร และเพื่อให้สามารถนำผลไปใช้ประโยชน์ในการดูแลและปรับปรุงดินได้อย่างเหมาะสม ซึ่ง Master K จะพาไปชมกระบวนการถึงพื้นที่จริง

เมื่อมีการตรวจวัดค่าดินอย่างสม่ำเสมอ และแก้ปัญหาโดยใช้ความรู้ที่ถูกต้อง ก็จะสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่าเดิม การวัดค่าดินจึงไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลขทางวิชาการ แต่เป็น “จุดเริ่มต้น” ของเกษตรกรรมที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่รอบเหมืองทองอัครา ที่มีความตั้งใจจริงในการส่งเสริมการฟื้นฟูดินและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่นผ่านโครงการคลินิกเกษตร ซึ่งสนับสนุนทั้งเครื่องมือในการตรวจวัดดิน ความรู้ทางวิชาการ และการลงมือปฏิบัติร่วมกับชาวบ้าน เพื่อให้ทุกครัวเรือนสามารถฟื้นคืนผืนดินของตนเองให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง พร้อมสำหรับการทำเกษตรที่มั่นคงในระยะยาว