หากกล่าวถึงทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นรากฐานของระบบนิเวศ “ดิน” คือองค์ประกอบสำคัญที่เชื่อมโยงกับทุกการดำรงชีวิตบนโลก ตั้งแต่รับหน้าที่ให้พืชพันธุ์ได้หยั่งรากลึก เติบโตและยืนต้นได้อย่างมั่นคงแข็งแรง จนต่อยอดเป็นอาหารของมนุษย์และสัตว์ ไปจนถึงจุลินทรีย์ตัวจิ๋วที่ช่วยรักษาสมดุลของธรรมชาติ หากดินขาดความอุดมสมบูรณ์และสมดุลทางชีวภาพ วงจรของธรรมชาติย่อมได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ “การตรวจวัดค่าดิน” กลายเป็นกุญแจสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในพื้นที่รอบเหมืองทองอัคราซึ่งแม้จะมีภาพจำจากการขุดแร่ล้ำค่าใต้ผืนดิน แต่เบื้องหลังคือความมุ่งมั่นในการฟื้นฟูและดูแลคุณภาพดิน เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรมและชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน
เพื่อให้ได้คำตอบที่เข้าใจง่ายว่าการตรวจวัดค่าดินสำคัญอย่างไร? และจะมีวิธีใดในการฟื้นฟูดินให้กลับมาเพาะปลูกได้อีกครั้ง วันนี้เราจึงชวน คุณภูริวิทย์ สังข์ศิริ หรือ Master K นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาของอัครา มาร่วมไขคำตอบไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้!
“การวัดค่าดิน” สำคัญต่อการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างไร ?
การวัดค่าดิน คือกระบวนการตรวจสอบคุณภาพของดินในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะและคุณภาพของดินนั้น ๆ โดยการวัดค่าดินมักครอบคลุมถึงการตรวจสอบค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ปริมาณธาตุอาหารหลัก เช่น ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) รวมไปถึงการวัดระดับอินทรียวัตถุ โครงสร้างดิน และความสามารถในการอุ้มหรือระบายน้ำอย่างเหมาะสม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผนการเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่
เมื่อเกษตรกรรู้จักและเข้าใจคุณสมบัติของดินที่ตนเองมี ก็จะสามารถเลือกปลูกพืชได้อย่างเหมาะสม ตัดสินใจได้ว่าควรปรับปรุงดินด้วยวิธีใด ใช้ปุ๋ยชนิดไหน หรือจัดการน้ำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพและปริมาณของผลผลิตได้อย่างเห็นผล อีกทั้งยังช่วยป้องกันปัญหาดินเสื่อมโทรมในระยะยาว
ดินมีกี่ประเภท? เจาะลึกคุณสมบัติของดินแต่ละชนิดที่ควรรู้
ดิน คือวัสดุทั้งอินทรีย์และอนินทรีย์ที่อยู่บนพื้นผิวโลก ทำหน้าที่เป็นแหล่งรองรับการเจริญเติบโตของพืช โดยมีองค์ประกอบและโครงสร้างที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามลักษณะของแต่ละพื้นที่ ซึ่งดินในประเทศไทยมีจำแนกตามระบบอนุกรมวิธานดินออกเป็น 6 ระดับ ได้แก่ อันดับ (order), อันดับย่อย (suborder), กลุ่มดินใหญ่ (great group), กลุ่มดินย่อย (subgroup), วงศ์ (family) และชุดดิน (series) โดยหน่วยจำแนกที่เล็กที่สุดในระบบนี้คือ “ชุดดิน”

ในปัจจุบันมีชุดดินที่เรียกได้ว่าเป็นตัวแทนดินที่พบในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยมากกว่า 200 ชุดดิน ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและธาตุอาหารในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การจำแนกลักษณะของดินโดยทั่วไปจะพิจารณาจากสี เนื้อดิน โครงสร้าง ความเป็นกรด-ด่าง และความลึกของดิน โดยเฉพาะเนื้อดิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพาะปลูก โดยสามารถแบ่งประเภทของดินตามลักษณะเนื้อดินได้เป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้
- ดินเหนียว คือดินที่มีเนื้อละเอียดมาก เมื่อแห้งจะจับตัวกันแข็ง แต่เมื่อเปียกน้ำจะมีความยืดหยุ่น สามารถขึ้นเป็นรูปต่าง ๆ ได้ จุดเด่นคือสามารถอุ้มน้ำได้ดี แต่การระบายน้ำและถ่ายเทอากาศค่อนข้างต่ำ จึงเหมาะกับพืชที่ต้องการน้ำมากอย่าง ข้าว พืชน้ำต่าง ๆ และผักสวนครัวบางชนิด เช่น บัว ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว หรือฟักทอง เป็นต้น
- ดินร่วน คือดินที่มีเนื้อละเอียดปานกลาง สามารถระบายน้ำได้ดีและอุ้มน้ำได้พอเหมาะ นอกจากนี้ ยังเป็นดินที่เอื้อต่อการหายใจของรากพืช จึงเหมาะสำหรับการเพาะปลูกพืชมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นพืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ดอก หรือไม้ประดับ รวมถึงพืชผักสวนครัว เช่น ผักบุ้ง ผักกาดขาว ฟักทอง หรือมันสำปะหลัง เป็นต้น
- ดินทราย คือดินที่มีลักษณะเป็นเม็ดดินหยาบ ไม่เกาะตัว ระบายน้ำและอากาศได้ดีมาก แต่อุ้มน้ำได้น้อย จึงถือว่าเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เหมาะกับพืชที่ทนแล้งหรือต้องการน้ำน้อย เช่น มันสำปะหลัง กระถิน ทองหลาง หรือผักบางชนิดที่เติบโตเร็ว เช่น คะน้า ผักกาดหอม แตงกวา มะเขือเทศ หรือมะระ เป็นต้น
ดินที่ดีต่อการเกษตรเป็นอย่างไร ?
ดินที่ดีในทางการเกษตร คือดินที่เหมาะสมต่อการปลูกพืช มีปริมาณน้ำและแร่ธาตุอาหารที่พอเพียงต่อการเจริญเติบโต เพื่อให้ผลผลิต สามารถปลูกพืชได้โดยใช้วิธีการจัดการดูแลตามปกติธรรมดาที่ไม่ยุ่งยาก สังเกตได้จากหน้าดินจะมีสีคล้ำหนา เพราะมีอินทรีย์วัตถุมากและมีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชสูง เนื้อดินร่วนซุย มีค่า pH ดินเป็นกลางอยู่ที่ 5.5 – 7.0 ไม่เป็นกรดหรือด่างจนเกินไป และไม่มีชั้นดานหรือชั้นหินที่ขัดขวางการเจริญเติบโตของรากพืชอยู่ในระดับตื้น
ดินไม่ดี… แก้ไขได้ แนวทางฟื้นฟูเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืนรอบเหมืองทองอัครา
นิยามของดินไม่ดี หมายถึงดินที่มีการปนเปื้อนหรือดินที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ในธรรมชาติโดยส่วนใหญ่ ดินไม่ดีมักเกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินมีองค์ประกอบที่ไม่เหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ หรือมีสมบัติทางกายภาพและเคมีที่ไม่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก ดินประเภทนี้จึงเป็นดินที่มีปัญหาทางด้านการเกษตร ทำให้พืชไม่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตตามปกติได้ อย่างไรก็ตาม จากการวัดค่าดินในแปลงนาของเกษตรกรและพื้นที่โดยรอบเหมืองทอง พบว่าดินมีลักษณะเป็นดินเปรี้ยว หรือเป็นกรดจัด ซึ่งถือเป็นดินที่มีปัญหา ไม่เหมาะสำหรับการปลูกพืช โดยปัญหานี้ได้รับการตรวจพบตั้งแต่ขั้นตอนการสำรวจและเก็บข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่โดยรอบก่อนเริ่มดำเนินการทำเหมือง
เมื่อสามารถตั้งข้อสังเกตต่อปัญหาและได้รับคำปรึกษาจากเกษตรกรในพื้นที่ ทางเหมืองทองอัคราจึงได้มีการบูรณาการความรู้ร่วมกับเกษตรกรและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผ่านการดำเนินโครงการคลินิกเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเกษตร โดยเฉพาะปัญหาดินรอบพื้นที่โครงการ พร้อมช่วยให้เกษตรกรได้รับการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมถึงให้การสนับสนุนโดโลไมท์ ธาตุอาหารเสริมจากธรรมชาติ และการปลูกปอเทืองเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด เนื่องจากเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีไนโตรเจนสูงช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน ซึ่งเป็นวิธีการเพื่อปรับปรุงดินเปรี้ยวจัด ร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินพิจิตร โดยเกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจวัดค่าความอุดมสมบูรณ์ของดินในพื้นที่บริเวณโดยรอบเหมืองอย่างละเอียด โดยจะมีการตรวจวิเคราะห์ค่าดินปีละ 2 ครั้ง คือก่อนฤดูกาลทำนา และหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวในพื้นที่ทำนาปี รวมถึงมีการตรวจวัดค่าการปนเปื้อนของโลหะหนักในดินปีละครั้ง ทั้งในพื้นที่โครงการและพื้นที่รอบนอก ตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA (Environmental Impact Assessment) พร้อมถ่ายทอดภูมิความรู้เบื้องต้นให้กับเกษตรกรเกี่ยวกับวิธีการตรวจวัดค่าความอุดมสมบูรณ์ของดิน ด้วยชุดทดสอบธาตุอาหารหลัก (N-P-K) และการตรวจค่า pH ดิน ผ่านการใช้กระดาษลิตมัสหรือเครื่องวัดดิจิทัลที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง รวมถึงการเลือกประเภทปุ๋ยให้ตรงกับความต้องการของพืชเพื่อลดต้นทุนทางการเกษตร และเพื่อให้สามารถนำผลไปใช้ประโยชน์ในการดูแลและปรับปรุงดินได้อย่างเหมาะสม ซึ่ง Master K จะพาไปชมกระบวนการถึงพื้นที่จริง
เมื่อมีการตรวจวัดค่าดินอย่างสม่ำเสมอ และแก้ปัญหาโดยใช้ความรู้ที่ถูกต้อง ก็จะสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่าเดิม การวัดค่าดินจึงไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลขทางวิชาการ แต่เป็น “จุดเริ่มต้น” ของเกษตรกรรมที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่รอบเหมืองทองอัครา ที่มีความตั้งใจจริงในการส่งเสริมการฟื้นฟูดินและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่นผ่านโครงการคลินิกเกษตร ซึ่งสนับสนุนทั้งเครื่องมือในการตรวจวัดดิน ความรู้ทางวิชาการ และการลงมือปฏิบัติร่วมกับชาวบ้าน เพื่อให้ทุกครัวเรือนสามารถฟื้นคืนผืนดินของตนเองให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง พร้อมสำหรับการทำเกษตรที่มั่นคงในระยะยาว